มะละกอ สรรพคุณและประโยชน์ของมะละกอ 34 ข้อ !
มะละกอ
มะละกอ ชื่อสามัญ Papaya
มะละกอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Carica papaya L. จัดอยู่ในวงศ์มะละกอ (CARICACEAE)
มะละกอเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีต้นกำเนิดจากอเมริกากลาง เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานมากในบ้านเรา ด้วยการรับประทานสด ๆ หรือนำมาประกอบอาหาร เช่น ส้มตำ แกงส้ม หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็ได้ มะละกอนั้นจัดว่าเป็นไม้ล้มลุก
(หลาย ๆ คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นไม้ยืนต้น)
ประโยชน์ของมะละกอนั้นก็มีค่อนข้างมาก มีสรรพคุณเป็นทั้งยารักษาโรค โดยสรรพคุณมะละกอก็เช่น ใช้เป็นยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิด เป็นต้น และยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 ธาตุแคลเซียม ธาตุโซเดียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก โปรตีน เป็นต้น
แต่มีคำแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานมะละกอสุกในปริมาณมาก ๆ หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจจะทำให้ผิวของคุณเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้
สรรพคุณของมะละกอ
มีส่วนช่วยกระตุ้นให้มารดามีน้ำนมมากขึ้น
มะละกอมีส่วนช่วยในการบำรุงประสาทและสมอง
มะละกอมีเอนไซม์ที่เป็นยาช่วยย่อยอาหาร
ช่วยป้องกันลักปิดลักเปิดหรือเลือดออกตามไรฟันได้
ช่วยรักษาอาการขัดเบา ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1 กำมือ รากแห้งอีกครึ่งกำมือ หั่นแล้วนำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำมาดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนมื้ออาหาร
เป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้อาการท้องผูก ด้วยการกินเนื้อมะละกอสุก
ช่วยในการย่อยอาหาร
ใช้ฆ่าพยาธิ ด้วยการใช้ยางจากผลดิบซึ่งเป็นยาช่วยย่อยโปรตีน
ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา จากรากมะละกอ
ช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
ช่วยรักษาอาการเท้าบวม ด้วยการนำใบมะละกอสด ๆ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาพอกบริเวณนั้น ๆ
ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยใช้รากมะละกอนำมาตำให้แหลกแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาทาบริเวณนั้น ๆ
ใช้รักษาอาการผดผื่นคันขึ้นตามลำตัว ด้วยใช้ใบมะละกอ 1 ใบ เกลือ 1 ช้อนชา น้ำมะนาวจำนวน 2 ผล นำมาตำรวมกันให้ละเอียดแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นผดผื่น
ช่วยรักษาโรคกลาก เกลื้อน เท้าเปื่อย ด้วยการใช้ยางมะละกอดิบมาทาวันละ 3 ครั้ง จะสามารถช่วยฆ่าเชื้อราได้
ช่วยรักษาอาการคันอันเกิดมาจากพิษของหอยคัน ด้วยการใช้ยางมะละกอดิบ ๆ นำมาทาทั้งเช้าและเย็น
หากโดนเสี้ยนหรือหนามตำหรือหนามหักคาเนื้อใน หากนำยางมะละกอดิบมาทา หนามจะหลุดออกมา แต่ให้บ่งเปิดปากแผลก่อน
หากโดนตะปูตำเท้าเป็นแผล ให้นำผิวของลูกมะละกอดิบมาตำแล้วนำมาพอกแผล โดยเปลี่ยนใหม่วันละ 2 ครั้ง
ช่วยรักษาแผลพุพอง อักเสบ ด้วยการใช้ใบมะละกอที่แห้งกรอบนำมาบดให้เป็นผง นำไปผสมกับน้ำกะทิผสมให้พอเหนียว แล้วนำมาทาแผลวันละ 3 ครั้ง
ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้เนื้อมะละกอดิบ ๆ ต้มจนเปื่อย นำมาตำแล้วพอกบริเวณบาดแผล
ใช้รักษาอาการปวดหลังปวดข้อต่าง ๆ ด้วยการรับประทานมะละกอสุกอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
ช่วยรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อไม่มีแรง ด้วยการใช้รากมะละกอตัวผู้นำมาแช่เหล้าขาวทิ้งไว้ 7 วัน และกรองเอาน้ำมาทาบริเวณที่กล้ามเนื้อหรือบริเวณที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ช่วยลดอาการปวดบวม ด้วยการนำใบมะละกอสด ๆ ไปย่างไฟหรือใช้น้ำร้อนลวก แล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการ หรือนำมาตำให้พอพยาบแล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง นำมาทำเป็นลูกประคบก็ใช้ได้เหมือนกัน
ช่วยป้องกันการเกิดอาการตับโตหรือโรคที่เกี่ยวกับตับ
เป็นยาช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
มีงานวิจัยมะละกอพบว่าการรับประทานมะละกอเป็นประจำมีส่วนช่วยในการต่อต้านโรคมะเร็งได้
ประโยชน์ของมะละกอ
มะละกอมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด ซึ่งช่วยให้สุขภาพของคุณแข็งแรง
ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสอยู่เสมอ
ช่วยในการชะลอวัย ลดเลือน และป้องกันการเกิดริ้วรอยต่าง ๆ
ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
สามารถนำมาใช้เป็นทรีตเมนต์ทำหน้าให้หน้าใสได้อีกด้วย ด้วยการนำมะละกอสุกผสมกับน้ำผึ้งและนมสด แล้วนำมาปั่นให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำมาทาผิวหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วค่อยล้างออก
ใช้นำมารับประทานเป็นผลไม้หรือของว่าง
ใช้นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม ส้มตำ เป็นต้น
สามารถนำมะละกอไปใช้หมักให้เนื้อนุ่มได้อีกด้วย เพราะมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า Papain ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผงหมักสำเร็จรูปที่เราเห็นขายกันอยู่ตามท้องตลาดนั่นเอง
นำมาแปรรูป การแปรรูปมะละกอ เช่น มะละกอแช่อิ่ม มะละกอแผ่น แยมมะละกอ มะละกอเชื่อม ซอสมะละกอ เยลลี่มะละกอ มะละกอแช่อิ่ม มะละกอสามรส มะละกอดอง มะละกอผง เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของมะละกอดิบ ต่อ 100 กรัม
พลังงาน 43 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต 10.82 กรัม
น้ำตาล 7.82 กรัม
เส้นใย 1.7 กรัม
ไขมัน 0.26 กรัม
โปรตีน 0.47 กรัม
วิตามินเอ 47 ไมโครกรัม 6%
เบตาแคโรทีน 274 ไมโครกรัม 3%
ลูทีนและซีแซนทีน 89 ไมโครกรัม
วิตามินบี 1 0.023 มิลลิกรัม 2%
วิตามินบี 2 0.027 มิลลิกรัม 2%
วิตามินบี 3 0.357 มิลลิกรัม 2%
วิตามินบี 5 0.191 มิลลิกรัม 4%
วิตามินบี 6 0.038 มิลลิกรัม 3%
วิตามินบี 9 38 ไมโครกรัม 10%
วิตามินซี 62 มิลลิกรัม 75%
วิตามินอี 0.3 มิลลิกรัม 2%
วิตามินเค 2.6 ไมโครกรัม 2%
ธาตุแคลเซียม 20 มิลลิกรัม 2%
ธาตุเหล็ก 0.25 มิลลิกรัม 2%
ธาตุแมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม 6%
ธาตุแมงกานีส 0.04 มิลลิกรัม 2%
ธาตุฟอสฟอรัส 10 มิลลิกรัม 1%
ธาตุโพแทสเซียม 182 มิลลิกรัม 4%
ธาตุโซเดียม 8 มิลลิกรัม 1%
ธาตุสังกะสี 0.08 มิลลิกรัม 1%
ไลโคปีน 1,828 ไมโครกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
คุณค่าทางโภชนาการของมะละกอสุก ต่อ 100 กรัม
โปรตีน 0.5 กรัม
ไขมัน 0.1 กรัม
วิตามินซี 70 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 24 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.6 มิลลิกรัม
ธาตุโซเดียม 4 มิลลิกรัม
วิตามินบี 1 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 0.4 มิลลิกรัม
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, Philippine Herbal Medicine, USDA Nutrient database
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)